ก่อนอื่นขอแนะนำผ้าที่นิยมใช้และมีขายตามร้านและเพจ อุปกรณ์งาน Quilt ทั่วๆ ไปก่อนนะคะ
ผ้าแบบแรกคือผ้าพิมพ์ลาย (Cotton Print) หรือเราจะเรียกง่ายๆ ว่าผ้าคอตต้อน 100%
แบบที่ 2 ผ้าทอ (Yarndyed) ซึ่งก็คือผ้าคอตต้อนเหมือนกันแต่จะนิยมเรียกว่าผ้าทอ
แบบที่ 3 ผ้าคอตต้อนลินิน
(Cotton Linen)แม้ช่วงหลังผู้ผลิตจะเปลี่ยนเนื้อผ้าเป็นแคนวาสไปแล้วก็ยังนิยมเรียกชื่อเดิมอยู่
ผ้าทั้ง 3 แบบนิยมนำมาทำชิ้นงานประเภทกระเป๋าและของใช้ต่างๆ
เรามาดูลักษณะของผ้ากันว่าจะนำมาใช้กับงานต่อผ้าได้มั้ย
ผ้าแบบแรกคือผ้าพิมพ์ลาย จะมีเนื้อผ้าบางที่สุดในบรรดาผ้าทั้ง
3 แบบ เมื่อนำมาเย็บต่อกันและพับตะเข็บไปด้านใดด้านหนึ่งแล้ว
ตะเข็บจะไม่หนามาก และเสียเนื้อที่ส่วนที่ถูกพับไปเพียงเล็กน้อย
ทำให้เมื่อเย็บประกอบผ้าเสร็จเป็น Block แล้วชิ้นงานจะมีขนาด
เท่าหรือลดจากขนาดที่สร้างแพทเทิร์นไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผ้าแบบที่ 2 คือผ้าทอ
จะมีความหนากว่าผ้าพิมพ์ลาย แต่ บางกว่าผ้าคอตต้อนลินิน
เมื่อนำมาเย็บต่อกันและพับตะเข็บ ตะเข็บจะหนากว่าแบบแรก
ขนาดสำเร็จของชิ้นงานอาจจะเล็กกว่าแพทเทิร์นที่สร้างไว้
โดยเฉพาะมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ต่อผ้ามาก่อน
ส่วนผ้าแบบสุดท้าย
ผ้าคอตต้อนลินินมีเนื้อผ้าหนาที่สุดในบรรดาผ้าทั้ง 3 แบบ
เมื่อนำมาเย็บต่อกันตะเข็บจะหนามากโดยเฉพาะบางแพทเทิร์นที่มีมุมผ้าหลายชิ้นมาชนกัน
เช่น Eight Point Star ทำให้ชิ้นงานที่สำเร็จแล้วเล็กกว่า
แพทเทิร์นที่สร้างไว้มาก
และเนื้อผ้าที่หนายังทำให้เมื่อนำไปประกอบกับใยบุและผ้าซับใน จะทำให้ Quilt
ด้วยมือได้ยาก และต้องออกแรงดันเข็มมากกว่าปกติ
ผ้าชนิดนี้จึงไม่น่าจะเหมาะสำหรับงานต่อผ้า
กลับมาพูดถึงผ้า 2 ชนิดแรก
เราอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่าควรต่อผ้าด้วยผ้าชนิดเดียวกัน
เช่นผ้าพิมพ์ลายต่อกับผ้าพิมพ์ลาย ผ้าทอก็ต่อกับผ้าทอ แต่หลายคนคงเคยเห็นผลงานของ Quilter
หลายท่านก็ผสมผสานผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้เข้าด้วยกันได้อย่างสวยงาม
ยกตัวอย่างผลงานของคุณโยโกะจากกระเป๋าใบนี้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเป็นมือใหม่แรกๆ
เราอาจหัดจากผ้าชนิดเดียวกันจนชำนาญก่อน แล้วค่อยขยับไปใช้ผ้าทอ
จากนั้นค่อยผสมผสานกันตามความชำนาญที่เรามี
สุดท้ายเรามารู้จักผ้ากันให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผ้าที่เราใช้ต่อผ้าจะเป็นผ้าคอตต้อน 100% ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากเวบหรือเพจขายอุปกรณ์งาน Quilt ทั่วๆ ไป ผ้าจะมีเนื้อนุ่ม ส่วนใหญ่สีจะไม่ตกง่าย
เวลาใช้เข็มเย็บเข็มจะผ่านผ้าได้ง่าย ไม่ฝืดไม่เหนียว ส่วนผ้าจากสำเพ็งหรือพาหุรัดซึ่งมีราคาถูกกว่า
มักจะมีใยสังเคราห์ผสมอยู่ในอัตราส่วนที่มากกว่าทำให้เนื้อผ้าแข็งกระด้างกว่า
สำหรับมือใหม่อาจจะใช้งานยากเล็กน้อย แต่ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามงบประมาณที่มี
โดยก่อนใช้งานอาจซักเพื่อทดสอบสีตกก่อน ก่อนจะจบเรื่องของผ้าในวันนี้
จะพูดถึงโครงสร้างของผ้า ผ้าจะมีเกรนผ้า 3 ทิศทาง คือ
เกรนผ้าแนวตั้ง มีความแข็งแรงและยืดได้น้อยที่สุด
เกรนผ้าแนวนอนมีความแข็งแรงรองลงมาและยืดได้มากกว่า
และแนวเฉลียงผ้าแนวนี้จะยืดได้มากที่สุดนิยมนำไปทำผ้ากุ๊น ส่วนของริมผ้า
จะมีความแข็งกว่าส่วนอื่นเพราะมีเส้นด้ายอยู่มากกว่าเราจะตัดทิ้งหรือตัดเก็บไว้เย็บต่อริมผ้าชิ้นอื่นเป็นชิ้นงานใหม่ได้
ครบถ้วนกระบวนความเรื่องของผ้า แต่ยังไม่จบเสียทีเดียว คราวหน้าเราจะมาต่อกันในเรื่องที่หนักอกหนักใจใครหลายคนคือเรื่องสี การเลือกผ้ามาใช้ในการทำชิ้นงาน และการเก็บผ้าให้ง่ายและสะดวกในการเลือกใช้งาน โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=SeBib7GRmLg ตอนที่ 1
https://www.youtube.com/watch?v=AwkxDstOKtg ตอนที่ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น