วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผ้าที่ใช้สำหรับงาน Quilt


ก่อนอื่นขอแนะนำผ้าที่นิยมใช้และมีขายตามร้านและเพจ อุปกรณ์งาน  Quilt ทั่วๆ ไปก่อนนะคะ

ผ้าแบบแรกคือผ้าพิมพ์ลาย (Cotton Print) หรือเราจะเรียกง่ายๆ ว่าผ้าคอตต้อน 100%
บบที่ 2 ผ้าทอ (Yarndyed) ซึ่งก็คือผ้าคอตต้อนเหมือนกันแต่จะนิยมเรียกว่าผ้าทอ

แบบที่ 3 ผ้าคอตต้อนลินิน (Cotton Linen)แม้ช่วงหลังผู้ผลิตจะเปลี่ยนเนื้อผ้าเป็นแคนวาสไปแล้วก็ยังนิยมเรียกชื่อเดิมอยู่

ผ้าทั้ง 3 แบบนิยมนำมาทำชิ้นงานประเภทกระเป๋าและของใช้ต่างๆ เรามาดูลักษณะของผ้ากันว่าจะนำมาใช้กับงานต่อผ้าได้มั้ย


ผ้าแบบแรกคือผ้าพิมพ์ลาย จะมีเนื้อผ้าบางที่สุดในบรรดาผ้าทั้ง 3 แบบ เมื่อนำมาเย็บต่อกันและพับตะเข็บไปด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ตะเข็บจะไม่หนามาก และเสียเนื้อที่ส่วนที่ถูกพับไปเพียงเล็กน้อย ทำให้เมื่อเย็บประกอบผ้าเสร็จเป็น Block แล้วชิ้นงานจะมีขนาด เท่าหรือลดจากขนาดที่สร้างแพทเทิร์นไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผ้าแบบที่ 2 คือผ้าทอ จะมีความหนากว่าผ้าพิมพ์ลาย แต่ บางกว่าผ้าคอตต้อนลินิน เมื่อนำมาเย็บต่อกันและพับตะเข็บ ตะเข็บจะหนากว่าแบบแรก ขนาดสำเร็จของชิ้นงานอาจจะเล็กกว่าแพทเทิร์นที่สร้างไว้ โดยเฉพาะมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ต่อผ้ามาก่อน
ส่วนผ้าแบบสุดท้าย ผ้าคอตต้อนลินินมีเนื้อผ้าหนาที่สุดในบรรดาผ้าทั้ง 3 แบบ เมื่อนำมาเย็บต่อกันตะเข็บจะหนามากโดยเฉพาะบางแพทเทิร์นที่มีมุมผ้าหลายชิ้นมาชนกัน เช่น Eight Point Star ทำให้ชิ้นงานที่สำเร็จแล้วเล็กกว่า แพทเทิร์นที่สร้างไว้มาก และเนื้อผ้าที่หนายังทำให้เมื่อนำไปประกอบกับใยบุและผ้าซับใน จะทำให้ Quilt ด้วยมือได้ยาก และต้องออกแรงดันเข็มมากกว่าปกติ ผ้าชนิดนี้จึงไม่น่าจะเหมาะสำหรับงานต่อผ้า
กลับมาพูดถึงผ้า 2 ชนิดแรก เราอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่าควรต่อผ้าด้วยผ้าชนิดเดียวกัน เช่นผ้าพิมพ์ลายต่อกับผ้าพิมพ์ลาย ผ้าทอก็ต่อกับผ้าทอ แต่หลายคนคงเคยเห็นผลงานของ Quilter หลายท่านก็ผสมผสานผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้เข้าด้วยกันได้อย่างสวยงาม ยกตัวอย่างผลงานของคุณโยโกะจากกระเป๋าใบนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเป็นมือใหม่แรกๆ เราอาจหัดจากผ้าชนิดเดียวกันจนชำนาญก่อน แล้วค่อยขยับไปใช้ผ้าทอ จากนั้นค่อยผสมผสานกันตามความชำนาญที่เรามี
สุดท้ายเรามารู้จักผ้ากันให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผ้าที่เราใช้ต่อผ้าจะเป็นผ้าคอตต้อน 100% ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากเวบหรือเพจขายอุปกรณ์งาน Quilt ทั่วๆ ไป ผ้าจะมีเนื้อนุ่ม ส่วนใหญ่สีจะไม่ตกง่าย เวลาใช้เข็มเย็บเข็มจะผ่านผ้าได้ง่าย ไม่ฝืดไม่เหนียว  ส่วนผ้าจากสำเพ็งหรือพาหุรัดซึ่งมีราคาถูกกว่า มักจะมีใยสังเคราห์ผสมอยู่ในอัตราส่วนที่มากกว่าทำให้เนื้อผ้าแข็งกระด้างกว่า สำหรับมือใหม่อาจจะใช้งานยากเล็กน้อย แต่ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามงบประมาณที่มี โดยก่อนใช้งานอาจซักเพื่อทดสอบสีตกก่อน ก่อนจะจบเรื่องของผ้าในวันนี้ จะพูดถึงโครงสร้างของผ้า ผ้าจะมีเกรนผ้า 3 ทิศทาง คือ เกรนผ้าแนวตั้ง มีความแข็งแรงและยืดได้น้อยที่สุด เกรนผ้าแนวนอนมีความแข็งแรงรองลงมาและยืดได้มากกว่า และแนวเฉลียงผ้าแนวนี้จะยืดได้มากที่สุดนิยมนำไปทำผ้ากุ๊น ส่วนของริมผ้า จะมีความแข็งกว่าส่วนอื่นเพราะมีเส้นด้ายอยู่มากกว่าเราจะตัดทิ้งหรือตัดเก็บไว้เย็บต่อริมผ้าชิ้นอื่นเป็นชิ้นงานใหม่ได้
ครบถ้วนกระบวนความเรื่องของผ้า แต่ยังไม่จบเสียทีเดียว คราวหน้าเราจะมาต่อกันในเรื่องที่หนักอกหนักใจใครหลายคนคือเรื่องสี การเลือกผ้ามาใช้ในการทำชิ้นงาน และการเก็บผ้าให้ง่ายและสะดวกในการเลือกใช้งาน โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ







 

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อุปกรณ์สำหรับงาน Quilt

ครั้งที่แล้วได้เล่าประวัติความเป็นมาของงาน Quilt ไปแล้วคร่าวๆ ใครที่นึกอยากเย็บผ้าอย่าเพิ่งใจร้อน มาดูอุปกรณ์กันก่อนว่าต้องใช้อะไรบ้าง พอเราเริ่มจะเย็บผ้ากัน จะได้มีอุปกรณ์พร้อมเพรียง

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงาน Quilt แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ
 
1. อุปกรณ์สร้างแบบ คืออุปกรณ์ที่ใช้สร้างแพทเทิร์นก่อนที่เราจะนำไปวาดลงบนผ้า
1.1 กระดาษกราฟสร้างแบบ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบกระดาษกราฟแข็ง กระดาษกราฟอ่อนที่เป็นเล่มฉีกออกมาใช้ทีละแผ่นแต่ละช่องมีขนด 0.1 cm. และกระดาษสร้างแบบของ Clover แต่ละช่องมีขนด 0.5 cm. หรือถ้าไม่สามารถหาซื้อได้จริงๆ ก็สามารถใช้กระดาษ A4 ธรรมดาได้ แต่ต้องใช้ความละเอียดในการวัดระยะและขีดเส้นมากกว่าเท่านั้นเอง กระดาษที่เลือกใช้ ถ้าเป็นกระดาษอ่อน ควรนำไปทากาวติดกับกระดาษแข็งอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง เวลานำไปวาดบนผ้าจะสามารถใช้ได้หลายครั้ง
1.2 ไม้บรรทัดสำหรับสร้างแบบ จะมีเส้นกำหนดขนาด 3, 5, 7, 10,15, 20, 25, 30, 35, 40 mm.ตามแนวนอนของไม้บรรทัด ซึ่งเป็นเส้นที่ใช้บ่อยในการทำงาน Quilt เช่นการเผื่อเย็บ หรือใช้ตีตารางเส้น Quilt ขนาดที่นิยมใช้คือ 15 และ 30 cm. โดยเลือกใช้ตามขนาดของชิ้นงานที่ทำ เช่นกันถ้าไม่สามารถหาซื้อได้จริงๆ ก็สามารถใช้ไม้บรรทัดธรรมดาได้เลย
1.3 วงเวียน มีแพทเทิร์นหลายแบบที่มีเส้นโค้งจึงต้องใช้วงเวียนในการสร้างแบบ และบางแบบมีรัศมีความโค้งมากต้องใช้วงเวียนที่มีขาสำหรับต่อเพิ่มรัศมีความโค้ง
1.4 ดินสอ 2B ไส้ของเส้นดินสอเบอร์นี้จะไม่เข้มหรืออ่อนเกินไป เวลาตัดกระดาษตามเส้นที่ขีดไว้จะได้ขนาดแพทเทิร์นที่แน่นอน
1.5 ยางลบ
1.6 กรรไกรตัดกระะดาษ


























ชมคลิปตอนที่ 1 ได้ที่นี่ ^^
https://www.youtube.com/watch?v=JshnZyI5Y2g (ตอนที่ 1)

2. อุปกรณ์ขีดผ้า ตัดผ้า และเย็บผ้า

2.1 ดินสอ 2B ไส้เบอร์ 2B จะมีขนาดพอดีกับการขีดเส้นบนผ้า ถ้าใช้ผ้าสีอ่อน สีของเส้นดินสอจะไม่ปรากฏชัดที่ด้านหน้าผ้า และสามารถซักออกได้ง่าย
2.2 ไม้บรรทัด
2.3 กรรไกรตัดผ้า มีให้เลือกใช้ทั้งแบบธรรมดา และแบบมีฟัน แบบมีฟันจะช่วยให้ผ้าไม่เลื่อนเวลาตัดผ้า ทำให้สะดวกเวลาตัดผ้าชิ้นเล็กๆ
2.4 เข็มต่อผ้า หรือที่เรียกว่า เข็ม Patchwork หรือ เข็ม Piecing
2.5 ด้ายต่อผ้า ด้ายที่ใช้สำหรับต่อผ้าโดยเฉพาะจะมีความลื่นดึงผ่านเนื้อผ้าได้ง่าย ไม่เป็นปม มีขนาดพอดี เมื่อเย็บแล้วพลิกกลับดูจะไม่เห็นเส้นด้ายที่ด้านหน้า เลือกใช้สีเหมือนหรือใกล้เคียงกับผ้ามากที่สุด
2.6 เข็มหมุด เข็มหมุดที่ใช้สำหรับต่อผ้ามีความบาง ไม่ทำลายเนื้อผ้า มีให้เลือกทั้งแบบยาวและสั้น
2.7 ปลอกนิ้ว ปลอกนิ้วสำหรับต่อผ้ามีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบยางและแบบ โลหะ ปลอกนิ้วแบบยางช่วยให้นิ้วไม่ลื่นเวลามีเหงื่อและยังมีความฝืดของยางช่วยให้จับเข็มได้มั่นคง ส่วนแบบโลหะช่วยสำหรับดันเข็มผ่านผ้า



























คลิปตอนที่ 2 ค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=mU_58MhBwrY (ตอนที่ 2)

อุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้ในการสร้างแบบ ขีดผ้า ตัดผ้า และเย็บผ้าจะมีเท่านี้ ในส่วนของอุปกรณ์ในการ Quilt และอุปกรณ์เพิ่มเติมอื่นๆ จะพูดถีงในคราวถัดไป อุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะงาน Quilt สามารถหาซื้อได้จากร้าน Quilt แบบมีหน้าร้านให้เลือกสินค้า หรือเลือกซื้อผ่านเวบออนไลน์ ส่วนอุปกรณ์ทั่วไปอื่นๆ สามารถซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป ครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงผ้าที่ใช้สำหรับงาน Quilt ผ้าแบบไหนเหมาะสำหรับการต่อผ้า การเตรียมผ้าก่อนนำมาใช้งาน และการจัดเก็บผ้า โปรดติดตามค่ะ








 
 
.
  
 
  
 






วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

เรื่องราวของ Patchwork และ Quilt

ช่วงก่อนที่จะมาเรียนเย็บผ้ากับคอร์สของสมาคม JHIA ก็เคยไปเรียนตามร้านและไปร่วม Workshop มาบ้าง บางครั้งก่อนเข้าเรื่องการเย็บผ้าต่อผ้า ครูก็จะเล่าเรื่องราวความเป็นมาของงาน Quilt ให้เราฟัง แรกๆ ก็ฟังผ่านๆ หูไป แต่พอกลับมาบ้านก็นึกว่าทำไมเราไม่เก็บรายละเอียดเรื่องราวของสิ่งที่เราชอบไว้ให้ได้ครบทุกเม็ด เลยเริ่มมาศึกษาเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือและหาความรู้เพิ่มจากอินเตอร์เน็ต เนื่อหาอาจจะดูเป็นวิชาการน่าเบื่อ แต่พออ่านๆ ไปแล้ว เชื่อเถอะว่าเราจะรู้สึกสนุกเหมือนได้อ่านนิยายเรื่องยาว พร้อมหรือยังคะ สูดลมหายใจยาวๆ รับออกซิเจนเข้าปอดให้เต็มที่ แล้วเรามารู้จักงาน Patchwork Quilt กัน


























Patchwork และ Quilt หมายถึงงานฝีมือที่ใช้ผ้าชิ้นเล็กๆ มาตัดเป็นรูปร่างต่างๆ และเย็บต่อกันให้เกิดเป็นลวดลายใหม่  ในยุโรปจะเรียกว่า Patchwork ในสหรัฐอเมริกา และ ประเทศไทยนิยมเรียกว่า Quilt
Quilt มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีจุดกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ ผู้คนในแถบนี้ริเริ่มการเย็บต่อผ้ากันแบบง่ายๆ เพื่อใช้เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ในบ้าน ต่อมาเมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศ งาน Quilt จึงแพร่หลายไปยังแถบเปอร์เซีย อียิปต์และโรม
ช่วงสงครามครูเสด สงครามระหว่างศาสนาซึ่งยาวนานเกือบ 200 ปี ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายต้องสู้รบกันภายใต้สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจึงตัดเย็บบุผ้านวมให้หนา ป้องกันการกระแทกจากการสวมใส่เสื้อเกราะ และเพื่อให้ผู้ใส่อุ่นสบาย อีกทั้งเป็นเครื่องแทนใจจากภรรยาที่ตัดเย็บให้เมื่อสามีออกรบ เมื่อสงครามสิ้นสุด ภรรยาของทหารเหล่านั้นได้นำงานตัดเย็บบุผ้านวมมาพัฒนาเพิ่มสีสัน และลวดลาย กลายเป็นทั้งของใช้ในชีวิตประจำวัน และงานศิลปะที่มีคุณค่า
ในยุโรป มีการพัฒนางาน Quilt จากของใช้ในชีวิตประจำวัน มาเป็นงานศิลปะ และของแต่งบ้านที่นิยมใช้กันในสังคมชั้นสูง เล่ากันว่าเทคนิค Applique’ มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศฝรั่งเศส หนึ่งในผลงานของตกแต่งบ้านที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่คือ ผ้าห่ม Tristan quilt ตัดเย็บในเกาะซิซิลีราว ปีค.ศ. 1360 เป็นหนึ่งในสองของผ้าห่มที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ V & A เมืองฟลอเรนซ์
รัสเซียเป็นอีกประเทศที่มีผลงาน Quilt ที่เก่าแก่ที่สุดเหลืออยู่ เป็นพรมผ้าลินินที่ค้นพบในถ้ำมองโกเลียและเก็บรักษาไว้ที่ สถาบันวิทยาศาสตร์เซนต์ปีเตอร์ ประเทศรัสเซีย
ในสหรัฐอเมริกา เมื่อชาวยุโรปได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน การทำผ้านวมก็เริ่มแพร่หลายในช่วง ศตวรรษที่ 18 – 19 สังคมผู้หญิงนิยมทอผ้าและตัดเย็บผ้าห่มเริ่มต้นจากการใช้ผ้าจากเสื้อผ้าที่เก่าขาด ใช้กระสอบใส่อาหารมาทำเป็นใยบุ ต่อมาจึงได้ผลิตผ้าฝ้ายชึ้นใช้เอง ย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติ ส่วนใยบุก็เปลี่ยนมาใช้ผ้าฝ้าย และขนสัตว์จากธรรมชาติ
ในประเทศไทย งาน Quilts เริ่มที่ภาคเหนือโดยเฉพาะชาวไทยภูเขาซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากมิชชั่นนารี

ความหมาย

Patchwork คือการนำผ้าที่ตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิตมาเย็บต่อกันเป็นลวดลายใหม่ แพทเทิร์นที่นิยมใช้คือทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ส่วนลายต่อผ้าที่นิยมต่อกันคือ Log cabin, Lemon star


























Applique’ คือการตัดผ้าตามจินตนาการมาเย็บ สอย ปะ ลงบนผ้าอีกชิ้น


























Quilting คือ การนำผ้า 3 ชิ้นมาวางซ้อนกัน และเย็บให้ติดกันทั้ง 3 ชิ้น การ Quilt ทำให้เกิดลายนูนขึ้นมา สามารถทำได้ด้วยมือและจักรเย็บผ้า ผ้า 3 ชิ้นประกอบด้วย
ชั้นบน Top คือผ้าที่เย็บประกอบเป็นลวดลายต่างๆ
ชั้นกลาง Batting คือใยบุ
ช้นล่าง Backing คือผ้าที่ใช้รองด้านล่างของใย

 

รู้จักความหมายคร่าวๆ ของ Patchwork Quilt กันไปแล้ว คราวหน้าเรามารู้จักอุปกรณ์สำหรับงาน Quilt กันเถอะ