วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผ้าที่ใช้สำหรับงาน Quilt


ก่อนอื่นขอแนะนำผ้าที่นิยมใช้และมีขายตามร้านและเพจ อุปกรณ์งาน  Quilt ทั่วๆ ไปก่อนนะคะ

ผ้าแบบแรกคือผ้าพิมพ์ลาย (Cotton Print) หรือเราจะเรียกง่ายๆ ว่าผ้าคอตต้อน 100%
บบที่ 2 ผ้าทอ (Yarndyed) ซึ่งก็คือผ้าคอตต้อนเหมือนกันแต่จะนิยมเรียกว่าผ้าทอ

แบบที่ 3 ผ้าคอตต้อนลินิน (Cotton Linen)แม้ช่วงหลังผู้ผลิตจะเปลี่ยนเนื้อผ้าเป็นแคนวาสไปแล้วก็ยังนิยมเรียกชื่อเดิมอยู่

ผ้าทั้ง 3 แบบนิยมนำมาทำชิ้นงานประเภทกระเป๋าและของใช้ต่างๆ เรามาดูลักษณะของผ้ากันว่าจะนำมาใช้กับงานต่อผ้าได้มั้ย


ผ้าแบบแรกคือผ้าพิมพ์ลาย จะมีเนื้อผ้าบางที่สุดในบรรดาผ้าทั้ง 3 แบบ เมื่อนำมาเย็บต่อกันและพับตะเข็บไปด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ตะเข็บจะไม่หนามาก และเสียเนื้อที่ส่วนที่ถูกพับไปเพียงเล็กน้อย ทำให้เมื่อเย็บประกอบผ้าเสร็จเป็น Block แล้วชิ้นงานจะมีขนาด เท่าหรือลดจากขนาดที่สร้างแพทเทิร์นไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผ้าแบบที่ 2 คือผ้าทอ จะมีความหนากว่าผ้าพิมพ์ลาย แต่ บางกว่าผ้าคอตต้อนลินิน เมื่อนำมาเย็บต่อกันและพับตะเข็บ ตะเข็บจะหนากว่าแบบแรก ขนาดสำเร็จของชิ้นงานอาจจะเล็กกว่าแพทเทิร์นที่สร้างไว้ โดยเฉพาะมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ต่อผ้ามาก่อน
ส่วนผ้าแบบสุดท้าย ผ้าคอตต้อนลินินมีเนื้อผ้าหนาที่สุดในบรรดาผ้าทั้ง 3 แบบ เมื่อนำมาเย็บต่อกันตะเข็บจะหนามากโดยเฉพาะบางแพทเทิร์นที่มีมุมผ้าหลายชิ้นมาชนกัน เช่น Eight Point Star ทำให้ชิ้นงานที่สำเร็จแล้วเล็กกว่า แพทเทิร์นที่สร้างไว้มาก และเนื้อผ้าที่หนายังทำให้เมื่อนำไปประกอบกับใยบุและผ้าซับใน จะทำให้ Quilt ด้วยมือได้ยาก และต้องออกแรงดันเข็มมากกว่าปกติ ผ้าชนิดนี้จึงไม่น่าจะเหมาะสำหรับงานต่อผ้า
กลับมาพูดถึงผ้า 2 ชนิดแรก เราอาจจะเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่าควรต่อผ้าด้วยผ้าชนิดเดียวกัน เช่นผ้าพิมพ์ลายต่อกับผ้าพิมพ์ลาย ผ้าทอก็ต่อกับผ้าทอ แต่หลายคนคงเคยเห็นผลงานของ Quilter หลายท่านก็ผสมผสานผ้าทั้ง 2 ชนิดนี้เข้าด้วยกันได้อย่างสวยงาม ยกตัวอย่างผลงานของคุณโยโกะจากกระเป๋าใบนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเป็นมือใหม่แรกๆ เราอาจหัดจากผ้าชนิดเดียวกันจนชำนาญก่อน แล้วค่อยขยับไปใช้ผ้าทอ จากนั้นค่อยผสมผสานกันตามความชำนาญที่เรามี
สุดท้ายเรามารู้จักผ้ากันให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผ้าที่เราใช้ต่อผ้าจะเป็นผ้าคอตต้อน 100% ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากเวบหรือเพจขายอุปกรณ์งาน Quilt ทั่วๆ ไป ผ้าจะมีเนื้อนุ่ม ส่วนใหญ่สีจะไม่ตกง่าย เวลาใช้เข็มเย็บเข็มจะผ่านผ้าได้ง่าย ไม่ฝืดไม่เหนียว  ส่วนผ้าจากสำเพ็งหรือพาหุรัดซึ่งมีราคาถูกกว่า มักจะมีใยสังเคราห์ผสมอยู่ในอัตราส่วนที่มากกว่าทำให้เนื้อผ้าแข็งกระด้างกว่า สำหรับมือใหม่อาจจะใช้งานยากเล็กน้อย แต่ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามงบประมาณที่มี โดยก่อนใช้งานอาจซักเพื่อทดสอบสีตกก่อน ก่อนจะจบเรื่องของผ้าในวันนี้ จะพูดถึงโครงสร้างของผ้า ผ้าจะมีเกรนผ้า 3 ทิศทาง คือ เกรนผ้าแนวตั้ง มีความแข็งแรงและยืดได้น้อยที่สุด เกรนผ้าแนวนอนมีความแข็งแรงรองลงมาและยืดได้มากกว่า และแนวเฉลียงผ้าแนวนี้จะยืดได้มากที่สุดนิยมนำไปทำผ้ากุ๊น ส่วนของริมผ้า จะมีความแข็งกว่าส่วนอื่นเพราะมีเส้นด้ายอยู่มากกว่าเราจะตัดทิ้งหรือตัดเก็บไว้เย็บต่อริมผ้าชิ้นอื่นเป็นชิ้นงานใหม่ได้
ครบถ้วนกระบวนความเรื่องของผ้า แต่ยังไม่จบเสียทีเดียว คราวหน้าเราจะมาต่อกันในเรื่องที่หนักอกหนักใจใครหลายคนคือเรื่องสี การเลือกผ้ามาใช้ในการทำชิ้นงาน และการเก็บผ้าให้ง่ายและสะดวกในการเลือกใช้งาน โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ







 

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อุปกรณ์สำหรับงาน Quilt

ครั้งที่แล้วได้เล่าประวัติความเป็นมาของงาน Quilt ไปแล้วคร่าวๆ ใครที่นึกอยากเย็บผ้าอย่าเพิ่งใจร้อน มาดูอุปกรณ์กันก่อนว่าต้องใช้อะไรบ้าง พอเราเริ่มจะเย็บผ้ากัน จะได้มีอุปกรณ์พร้อมเพรียง

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงาน Quilt แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ
 
1. อุปกรณ์สร้างแบบ คืออุปกรณ์ที่ใช้สร้างแพทเทิร์นก่อนที่เราจะนำไปวาดลงบนผ้า
1.1 กระดาษกราฟสร้างแบบ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบกระดาษกราฟแข็ง กระดาษกราฟอ่อนที่เป็นเล่มฉีกออกมาใช้ทีละแผ่นแต่ละช่องมีขนด 0.1 cm. และกระดาษสร้างแบบของ Clover แต่ละช่องมีขนด 0.5 cm. หรือถ้าไม่สามารถหาซื้อได้จริงๆ ก็สามารถใช้กระดาษ A4 ธรรมดาได้ แต่ต้องใช้ความละเอียดในการวัดระยะและขีดเส้นมากกว่าเท่านั้นเอง กระดาษที่เลือกใช้ ถ้าเป็นกระดาษอ่อน ควรนำไปทากาวติดกับกระดาษแข็งอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง เวลานำไปวาดบนผ้าจะสามารถใช้ได้หลายครั้ง
1.2 ไม้บรรทัดสำหรับสร้างแบบ จะมีเส้นกำหนดขนาด 3, 5, 7, 10,15, 20, 25, 30, 35, 40 mm.ตามแนวนอนของไม้บรรทัด ซึ่งเป็นเส้นที่ใช้บ่อยในการทำงาน Quilt เช่นการเผื่อเย็บ หรือใช้ตีตารางเส้น Quilt ขนาดที่นิยมใช้คือ 15 และ 30 cm. โดยเลือกใช้ตามขนาดของชิ้นงานที่ทำ เช่นกันถ้าไม่สามารถหาซื้อได้จริงๆ ก็สามารถใช้ไม้บรรทัดธรรมดาได้เลย
1.3 วงเวียน มีแพทเทิร์นหลายแบบที่มีเส้นโค้งจึงต้องใช้วงเวียนในการสร้างแบบ และบางแบบมีรัศมีความโค้งมากต้องใช้วงเวียนที่มีขาสำหรับต่อเพิ่มรัศมีความโค้ง
1.4 ดินสอ 2B ไส้ของเส้นดินสอเบอร์นี้จะไม่เข้มหรืออ่อนเกินไป เวลาตัดกระดาษตามเส้นที่ขีดไว้จะได้ขนาดแพทเทิร์นที่แน่นอน
1.5 ยางลบ
1.6 กรรไกรตัดกระะดาษ


























ชมคลิปตอนที่ 1 ได้ที่นี่ ^^
https://www.youtube.com/watch?v=JshnZyI5Y2g (ตอนที่ 1)

2. อุปกรณ์ขีดผ้า ตัดผ้า และเย็บผ้า

2.1 ดินสอ 2B ไส้เบอร์ 2B จะมีขนาดพอดีกับการขีดเส้นบนผ้า ถ้าใช้ผ้าสีอ่อน สีของเส้นดินสอจะไม่ปรากฏชัดที่ด้านหน้าผ้า และสามารถซักออกได้ง่าย
2.2 ไม้บรรทัด
2.3 กรรไกรตัดผ้า มีให้เลือกใช้ทั้งแบบธรรมดา และแบบมีฟัน แบบมีฟันจะช่วยให้ผ้าไม่เลื่อนเวลาตัดผ้า ทำให้สะดวกเวลาตัดผ้าชิ้นเล็กๆ
2.4 เข็มต่อผ้า หรือที่เรียกว่า เข็ม Patchwork หรือ เข็ม Piecing
2.5 ด้ายต่อผ้า ด้ายที่ใช้สำหรับต่อผ้าโดยเฉพาะจะมีความลื่นดึงผ่านเนื้อผ้าได้ง่าย ไม่เป็นปม มีขนาดพอดี เมื่อเย็บแล้วพลิกกลับดูจะไม่เห็นเส้นด้ายที่ด้านหน้า เลือกใช้สีเหมือนหรือใกล้เคียงกับผ้ามากที่สุด
2.6 เข็มหมุด เข็มหมุดที่ใช้สำหรับต่อผ้ามีความบาง ไม่ทำลายเนื้อผ้า มีให้เลือกทั้งแบบยาวและสั้น
2.7 ปลอกนิ้ว ปลอกนิ้วสำหรับต่อผ้ามีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบยางและแบบ โลหะ ปลอกนิ้วแบบยางช่วยให้นิ้วไม่ลื่นเวลามีเหงื่อและยังมีความฝืดของยางช่วยให้จับเข็มได้มั่นคง ส่วนแบบโลหะช่วยสำหรับดันเข็มผ่านผ้า



























คลิปตอนที่ 2 ค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=mU_58MhBwrY (ตอนที่ 2)

อุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้ในการสร้างแบบ ขีดผ้า ตัดผ้า และเย็บผ้าจะมีเท่านี้ ในส่วนของอุปกรณ์ในการ Quilt และอุปกรณ์เพิ่มเติมอื่นๆ จะพูดถีงในคราวถัดไป อุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะงาน Quilt สามารถหาซื้อได้จากร้าน Quilt แบบมีหน้าร้านให้เลือกสินค้า หรือเลือกซื้อผ่านเวบออนไลน์ ส่วนอุปกรณ์ทั่วไปอื่นๆ สามารถซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไป ครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงผ้าที่ใช้สำหรับงาน Quilt ผ้าแบบไหนเหมาะสำหรับการต่อผ้า การเตรียมผ้าก่อนนำมาใช้งาน และการจัดเก็บผ้า โปรดติดตามค่ะ








 
 
.
  
 
  
 






วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

เรื่องราวของ Patchwork และ Quilt

ช่วงก่อนที่จะมาเรียนเย็บผ้ากับคอร์สของสมาคม JHIA ก็เคยไปเรียนตามร้านและไปร่วม Workshop มาบ้าง บางครั้งก่อนเข้าเรื่องการเย็บผ้าต่อผ้า ครูก็จะเล่าเรื่องราวความเป็นมาของงาน Quilt ให้เราฟัง แรกๆ ก็ฟังผ่านๆ หูไป แต่พอกลับมาบ้านก็นึกว่าทำไมเราไม่เก็บรายละเอียดเรื่องราวของสิ่งที่เราชอบไว้ให้ได้ครบทุกเม็ด เลยเริ่มมาศึกษาเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือและหาความรู้เพิ่มจากอินเตอร์เน็ต เนื่อหาอาจจะดูเป็นวิชาการน่าเบื่อ แต่พออ่านๆ ไปแล้ว เชื่อเถอะว่าเราจะรู้สึกสนุกเหมือนได้อ่านนิยายเรื่องยาว พร้อมหรือยังคะ สูดลมหายใจยาวๆ รับออกซิเจนเข้าปอดให้เต็มที่ แล้วเรามารู้จักงาน Patchwork Quilt กัน


























Patchwork และ Quilt หมายถึงงานฝีมือที่ใช้ผ้าชิ้นเล็กๆ มาตัดเป็นรูปร่างต่างๆ และเย็บต่อกันให้เกิดเป็นลวดลายใหม่  ในยุโรปจะเรียกว่า Patchwork ในสหรัฐอเมริกา และ ประเทศไทยนิยมเรียกว่า Quilt
Quilt มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีจุดกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ ผู้คนในแถบนี้ริเริ่มการเย็บต่อผ้ากันแบบง่ายๆ เพื่อใช้เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ในบ้าน ต่อมาเมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศ งาน Quilt จึงแพร่หลายไปยังแถบเปอร์เซีย อียิปต์และโรม
ช่วงสงครามครูเสด สงครามระหว่างศาสนาซึ่งยาวนานเกือบ 200 ปี ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายต้องสู้รบกันภายใต้สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจึงตัดเย็บบุผ้านวมให้หนา ป้องกันการกระแทกจากการสวมใส่เสื้อเกราะ และเพื่อให้ผู้ใส่อุ่นสบาย อีกทั้งเป็นเครื่องแทนใจจากภรรยาที่ตัดเย็บให้เมื่อสามีออกรบ เมื่อสงครามสิ้นสุด ภรรยาของทหารเหล่านั้นได้นำงานตัดเย็บบุผ้านวมมาพัฒนาเพิ่มสีสัน และลวดลาย กลายเป็นทั้งของใช้ในชีวิตประจำวัน และงานศิลปะที่มีคุณค่า
ในยุโรป มีการพัฒนางาน Quilt จากของใช้ในชีวิตประจำวัน มาเป็นงานศิลปะ และของแต่งบ้านที่นิยมใช้กันในสังคมชั้นสูง เล่ากันว่าเทคนิค Applique’ มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศฝรั่งเศส หนึ่งในผลงานของตกแต่งบ้านที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่คือ ผ้าห่ม Tristan quilt ตัดเย็บในเกาะซิซิลีราว ปีค.ศ. 1360 เป็นหนึ่งในสองของผ้าห่มที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ V & A เมืองฟลอเรนซ์
รัสเซียเป็นอีกประเทศที่มีผลงาน Quilt ที่เก่าแก่ที่สุดเหลืออยู่ เป็นพรมผ้าลินินที่ค้นพบในถ้ำมองโกเลียและเก็บรักษาไว้ที่ สถาบันวิทยาศาสตร์เซนต์ปีเตอร์ ประเทศรัสเซีย
ในสหรัฐอเมริกา เมื่อชาวยุโรปได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน การทำผ้านวมก็เริ่มแพร่หลายในช่วง ศตวรรษที่ 18 – 19 สังคมผู้หญิงนิยมทอผ้าและตัดเย็บผ้าห่มเริ่มต้นจากการใช้ผ้าจากเสื้อผ้าที่เก่าขาด ใช้กระสอบใส่อาหารมาทำเป็นใยบุ ต่อมาจึงได้ผลิตผ้าฝ้ายชึ้นใช้เอง ย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติ ส่วนใยบุก็เปลี่ยนมาใช้ผ้าฝ้าย และขนสัตว์จากธรรมชาติ
ในประเทศไทย งาน Quilts เริ่มที่ภาคเหนือโดยเฉพาะชาวไทยภูเขาซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากมิชชั่นนารี

ความหมาย

Patchwork คือการนำผ้าที่ตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิตมาเย็บต่อกันเป็นลวดลายใหม่ แพทเทิร์นที่นิยมใช้คือทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ส่วนลายต่อผ้าที่นิยมต่อกันคือ Log cabin, Lemon star


























Applique’ คือการตัดผ้าตามจินตนาการมาเย็บ สอย ปะ ลงบนผ้าอีกชิ้น


























Quilting คือ การนำผ้า 3 ชิ้นมาวางซ้อนกัน และเย็บให้ติดกันทั้ง 3 ชิ้น การ Quilt ทำให้เกิดลายนูนขึ้นมา สามารถทำได้ด้วยมือและจักรเย็บผ้า ผ้า 3 ชิ้นประกอบด้วย
ชั้นบน Top คือผ้าที่เย็บประกอบเป็นลวดลายต่างๆ
ชั้นกลาง Batting คือใยบุ
ช้นล่าง Backing คือผ้าที่ใช้รองด้านล่างของใย

 

รู้จักความหมายคร่าวๆ ของ Patchwork Quilt กันไปแล้ว คราวหน้าเรามารู้จักอุปกรณ์สำหรับงาน Quilt กันเถอะ
 
 

 
 
 

 

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มาเรียนเย็บผ้ากันเถอะ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมาเป็นการเรียน Patchwork Quilt ของสมาคม JHIA เป็นครั้งสุดท้าย แอบปาดน้ำตาเล็กน้อยเพราะเป็นการเรียนเย็บผ้าที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในชีวิต ได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการทำงาน Patchwork หลายอย่าง ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลา 2 ปีกว่าจะทำให้เราสร้างผลงานได้หลากหลายรูปแบบ และหลายชิ้นมากจนผนังในห้องทำงานมีที่ไม่พอให้แขวน Mini Tapestry ที่ทำไว้ นอกจากผลงานที่ได้ฝึกฝนหลายชิ้น เมื่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้เราจะได้รับ Certificate รับรองว่าได้ผ่านการเรียนและได้ทำชิ้นงานส่งครบตามที่สมาคมกำหนดไว้ครบทุกชิ้น สมาคม JHIA จะมอบ Certificate ให้นักเรียนที่จบการศึกษารวม 3 ใบ ใบแรกคือCertificate ระดับ Basic ใบที่ 2 คือระดับ Advance และใบที่ 3 ระดับ Instructor ซึ่งการที่เราจะได้รับ Certificate ระดับ Instructor นั้น เราะจะต้อง ทำ Sampler Quilt ของระดับ Basic และ Advance ให้เสร็จสมบูรณ์ด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและหินสำหรับนักเรียนทุกคน เพราะแม้เราจะทำการบ้านที่เรียนในระดับ Instructor เสร็จสิ้นสวยงามอลังการเพียงใด แต่ถ้า Sampler Quilt ไม่เสร็จก็เป็นอันจบปิ๊งเลยนะ เล่ากันมายืดยาว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเราถึงยอมอดหลับอดนอนเย็บผ้าทำการบ้านส่งเพื่อให้ได้ Certificate นี้กัน เพราะการมี Certificate  ครบทั้ง 3 ใบ เราจะสามารถไปประกอบอาชีพครูสอนงาน Patchwork Quilt ได้ ประกอบกับผลงานที่ได้นำเสนอไปแล้วคนที่มาเรียนก็จะได้เกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความรู้และสามารถทำชิ้นงานแบบที่เคยเห็นและอยากทำบ้างได้จริงๆ
อิ๋มอยากเชิญชวนทุกคนที่สนใจงาน Patchwork Quilt ให้มาเรียนรู้กัน ใครที่เห็นเพื่อนต่อผ้าเป็น Block หรือเห็นเพื่อนมีผ้าโชว์ผืนโตสวย จนอยากทำได้เองบ้าง หรือแม้แต่อยากจะลองหัดต่อผ้าเพื่อไปดัดแปลงทำเป็นกระเป๋าหรือของใช้ในบ้าน ขอเชิญชวนให้มาเรียนรู้และหัดทำไปด้วยกัน โดยอิ๋มจะเขียนเนื้อหา วิธีการทำงาน ประกอบรูปภาพ และอาจมีคลิปวีดีโอประกอบเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ เนื้อหาที่จะเขียนก็จะแบ่งเป็นเรื่องๆ ทีละบทๆ ทยอย Update ลงใน Blog นี้ เริ่มเนื้อหาตั้งแต่เรื่องราวของงาน Quilt วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ การสร้างแพทเทิร์น การตัดต่อผ้า การพลิกตะเข็บ ไปจนถึงว่า ถ้าไม่อยากต่อผ้าเพื่อทำผ้าโชว์ เราจะดัดแปลงไปทำชิ้นงานอะไรได้อีก โดยแพทเทิร์นที่นำมาสอนจะเลือกจากแบบที่เคยทำมาแล้ว และมีแพทเทิร์นใหม่ๆ ที่น่าสนใจหรือน่ารักเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
ใครสนใจอยากเรียนรู้งาน Patchwork Quilt โปรดติดตามที่นี่ เร็วๆ นี้ ^^



วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Advance Sampler Quilt

Sampler Quilt ผืนนี้เป็นผืนที่สองและผืนสุดท้ายของการเรียน JHIA เป็นการรวมเอาแต่ละ Block ใน Course Advance มาไว้บนผืนเดียวกัน Pattern ที่ต้องต่อในแต่ละ Block ของ Course นี้ ก็มีความยากขึ้นตามลำดับ และเมื่อนำมาต่อรวมกันเป็นผืน ก็น่าจะต้องออกแบบให้ Border มีรายละเอียดมากกว่าผืนแรกด้วย งานชิ้นใหญ่ชิ้นสุดท้ายนี้ จะเป็นตัวตัดสินว่าเรียนจบแล้วจะได้รับใบ Certificate หรือเปล่า เพราะแม้จะทำการบ้านในบทเรียนที่ผ่านมาเสร็จหมดทุกชิ้น แต่ถ้าทำ Sampler Quilt ผืนนี้ไม่เสร็จ ก็เป็นอันว่าหมดสิทธิ์ (ที่จริงก็ต้องทำ Sampler Quilt ผืนแรกเสร็จด้วยนะ)  แม้จะทำผ้าผืนแรกสำเร็จ และคิดว่าผืนที่สองก็ไม่น่าจะยาก แต่ก็ยังมีปัญหาจุ๊กจิ๊กมาทดสอบเราเสมอ ต่อผ้าแล้วไม่สวยไม่ถูกใจ เลาะทำใหม่หรือไปต่อดี อยากให้ดอกไม้มีกลีบบางๆ เหมือนของจริง แต่ไม่มีใยโพลีฯ อย่างที่ว่าจะแก้ปัญหายังไงดี ในขณะที่อารมณ์ขณะทำงานก็ยังคล้ายๆ ตอนทำผ้าผืนแรก แม้จะมีช่วงเวลาฮึกเหิม มุ่งมั่น แต่ก็มีช่วงเวลาขี้เกียจและต๊อแต๊ ไม่นับอุปสรรคเรื่องเวลาที่น้อยลงของตัวเองที่ทำให้ไม่สามารถเย็บผ้าได้แบบชิลชิลเหมือนที่เคย แต่เราก็ยังค่อยๆ ทำมันไปเรื่อยๆ เย็บและ Quilt ไปเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าก่อนการเรียนครั้งสุดท้ายผ้าผืนนี้ต้องได้เอาขึ้นแขวนบนผนังห้องเสียที วันที่ทำปมตัดด้ายเส้นสุดท้าย ความรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก มันทั้งโล่งและสุขใจ เราได้เอาชนะความยากลำบากมาได้อีกครั้งนึงแล้ว 
ขอยืมคำพูดของคุณภาณุมาศ ทองธนากุล หรือ ใบพัด นักเขียนเจ้าของหนังสือการวางแผนชีวิตอย่าง 'การลาออกครั้งสุดท้าย' มาใช้ในการนี้

"วันใดที่คุณมีความฝันคุณรอให้มันปรากฏตัวอย่างเดียวไม่ได้
ความฝันก็รอคุณเหมือนกันว่าจะมีวินัยในการทำเพื่อมันขนาดไหน"
 
วันนี้ความฝันของอิ๋มเป็นจริงแล้ว


 

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Basic Sampler Quilt

เนื้อหาหลักๆ ของการเรียนคอร์ส JHIA ก็คือการต่อผ้า Pattern ต่างๆ เริ่มตั้งแต่ผ้ารูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เช่นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากมาต่อผ้าแนวโค้ง ตอนที่เรียน Course Basic ต้องหัดต่อผ้าทั้งหมด 22 Pattern แต่นำมาประกอบเป็น Sampler Quilt แค่ 20 Pattern ขั้นตอนการต่อผ้าที่ว่ายาก แต่การ Quilt ผ้าผืนโตขนาดนี้นับว่าสาหัสทีเดียว อิ๋มใช้เวลาอยู่กับ Sampler Quilt ผืนนี้รวม 1 ปี กับ 4 เดือน นับแต่วันแรกที่ไปเรียนต่อผ้ากับครู ใครที่อยากต่อผ้าห่มหรือผ้าโชว์ผืนใหญ่ๆดูบ้างอย่าเพิ่งตกใจว่าจะใช้เวลานานขนาดนั้น 
เพราะเวลาที่ใช้ทำงานจริงๆ แค่ประมาณสามถึงสี่เดือนเท่านั้นเอง จำได้ว่าทุกครั้งที่ต่อผ้าแต่ละ Block ชอบที่จะนับว่า Block นี้ตัดผ้ากี่ชิ้น และต้องจับมาประกบกันเพื่อเย็บต่อกี่ครั้งจะได้คำนวณได้ว่าวันนึงจะต่อผ้า Block นี้เสร็จหรือเปล่า ทำเสร็จแล้วก็ลืมๆ ไปไม่ได้คิดจะจำ จนถึงเวลา Quilt ผ้า ตอนที่นั่งทำไปเพลินๆ และหยุดพักมองดูงานที่ตัวเองทำ ก็นึกขึ้นมาว่าผ้าผืนโตนี้ใช้ผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยกี่ชิ้นกันหนอ แล้วมันถูกจับประกบ เย็บต่อกันกี่ครั้งกว่าจะได้มาเป็นงานผืนนี้ มีหลากหลายความรู้สึกเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ได้เย็บผ้า วันไหนที่ต่อผ้าได้แหลมเปี๊ยบก็ปลื้มปริ่มยิ้มในใจ แต่วันไหนที่ต่อไม่ตรง เคลื่อนไปซักนิด ก็ปลุกปลอบใจตัวเองว่ามันเป็นงานทำมือ ครั้งไหนที่ทำแล้วไม่ถูกใจทั้งบล๊อกก็ตัดใจโยนทิ้งเลือกผ้าใหม่ต่อใหม่ทั้งหมด ไม่นับช่วงต้นๆ ของการ Quilt ที่เพิ่งเริ่มหัดใช้สะดึงที่กว่าจะเริ่มตั้งเข็มให้ตั้งฉากกับผ้าแล้ว Quilt ได้ก็ปาเข้าไปครึ่งวัน ไหนจะต้อง Quilt ให้ถี่เท่าๆ กันอีก ก็ทำให้ทดท้ออยู่พักนึงทีเดียว แม้กระทั่งวันนี้ที่ทำเสร็จแล้วยังแอบไม่ชอบลาย Quilt บางลายบนผืน มองแล้วมองอีกว่าไม่น่าเลือกทำลายนี้ สุดท้ายก็เก็บไว้ไม่เลาะเพื่อเอาไว้เป็นบทเรียนเตือนใจว่าครั้งหน้าเลือกทำลายอื่นจะสวยกว่า ใครจะนึกว่าผ้าผืนนึงกับเวลาอันแสนยาวนาน จะก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งสุขใจ และเหนื่อยใจ แต่ที่มากไปกว่านั้น ผ้าผืนนี้ได้ทำให้เรารู้จักสร้างวินัยในการทำงาน ยอมอดที่จะนอนกลิ้งตื่นสาย รีบตื่นเช้าเผื่อจะได้ต่อผ้าบ้างซักเล็กน้อย แม้มีธุระจะต้องไปไหนต่อไหน ก็พกผ้าไปหามุมเล็กๆ ต่อผ้าได้ทุกที่ มากกว่าความดีใจที่การบ้านเสร็จ คือความดีใจที่ตัวเองมีความอดทนมากพอที่ทำเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องธรรมดา ^^






 

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

Candle Wick

คือการปักลาย Coronial Knot  ด้วยเส้นด้ายสีขาว บนผ้าสีขาว หรือผ้าพิมพ์ลายเนื้อละเอียด ในสมัยก่อนหญิงสาวชาวอเมริกานิยมใช้ปักตกแต่งชุดแต่งงาน  ปัจจุบันนิยมใช้เพื่อตกแต่งบางส่วนของงาน Quilt  หรือปักตกแต่งเพิ่มเติมในส่วนของ  Applique’ และ Patchwork  และไม่จำเป็นว่าจะต้องทำบนชิ้นงานสีขาวเท่านั้น
ตอนแรกที่ดูภาพจากหนังสือ ก็คิดว่าไม่น่าจะยากมาก แต่พอลงมือทำจริงๆ ยากเหมือนกันนะ เพราะต้องทำปมแต่ละปมให้มีขนาดเท่าๆ กัน ระยะห่างแต่ละปมเท่าๆ กัน แถมยังต้องปักให้เป็นเส้นแนวเดียวกัน ถ้าเผลอปักกระเถิบออกมานอกเส้นแค่นิดเดียวก็จะดูออกเลยล่ะว่าเบี้ยว ที่สำคัญที่สุดถ้าทำไม่สวยคือมันจะเลาะปมนั้นทิ้งไม่ได้ เรียกว่าต้องสวยให้ตลอดรอดฝั่งว่างั้นเถอะ เรียนจบกลับบ้านมาเพราะอยากจะทำให้สำเร็จ ก็หมกมุ่น ปัก เลาะ ปัก เลาะ อยู่หลายวัน ผ้าชิ้นนี้อยากได้ แต่สีด้ายไม่เข้ากับผ้า ผ้าสีด้ายเข้ากับผ้า ขนาดผ้าก็ไม่พอ สุดท้ายมาจบที่ผ้าย้อมชา ได้ผลงานที่เบี้ยวๆ บูดๆ เล็กน้อย แต่ตั้งใจไว้ว่า ผลงานชิ้นถัดๆ ไป จะลองเอางาน Candle Wick มาตกแต่งดู งานที่ได้น่าจะดูมีรายละเอียดขึ้นอีกเยอะเลย เสร็จเมื่อไหร่ จะรีบนำมาให้ชมกัน